วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2555

อัลเบิร์ต แบนดูรา (Albert Bandura)

อัลเบิร์ต แบนดูรา (Albert Bandura)

อัลเบิร์ต แบนดูราเกิดที่เมืองอัลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา ได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบีย และได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตและปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทางจิตวิทยาคลินิก จากมหาวิทยาลัยไอโอวา (University of Iowa) เขาสนใจทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมจากการศึกษากับเคนเนธ สเปนซี (Kenneth Spence) และรอเบิร์ต เซียร์ส (Robert Sears) หลังจากจบการศึกษาในปี 1952 แบนดูราเข้าฝึกงานที่ศูนย์แนะแนววิชิตา (Wichita Guidance Center) เป็นเวลา 1 ปี ก่อนที่จะรับตำแหน่งที่ภาควิชาจิตวิทยา ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) และทำงานที่นี่มาโดยตลอด แบนดูนาแตกต่างจากนักพฤติกรรมนิยมสุดขั้ว (radical behaviorist) จำนวนมาก เขามองว่าปัจจัยทางด้านการรู้คิด (cognitive factor) เป็นสาเหตุของพฤติกรรมของมนุษย์ งานวิจัยของเขาด้านทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมให้ความสนใจปฏิกิริยาระหว่างการรู้คิด พฤติกรรม และสิ่งแวดล้อม
งานของแบนดูราส่วนใหญ่มุ่งเน้นที่การได้มาซึ่งความรู้ (acquisition) และการปรับเปลี่ยนลักษณะบุคลิกภาพของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการเรียนรู้โดยการสังเกต (observational learning) หรือการดูตัวแบบ(modeling) ซึ่งเขาชื่อว่าการเรียนรู้รูปแบบนี้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมที่เกิดขึ้นตามมา ความรู้ที่ว่าเด็กเรียนรู้โดยการเลียนแบบผู้อื่นเป็นสิ่งที่รู้กันอยู่แล้ว แต่มีการวิจัยเพียงเล็กน้อยในเรื่องนี้ ก่อนที่นีล มิลเลอร์ (Neal Miller) และจอห์น ดอลลาร์ด (John Dollard) จะตีพิมพ์หนังสือเรื่อง Social Learning and Imitation ออกมาในปี 1941
แบนดูราได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้สร้างพื้นฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์ที่มั่นคงในมโนทัศน์เรื่องการเรียนรู้โดยการดูตัวแบบ หรือการเลียนแบบ งานของเขา ซึ่งมุ่งเน้นเป็นพิเศษในเรื่องธรรมชาติของความก้าวร้าว เสนอว่าการดูตัวแบบแสดงบทบาทสำคัญในการกำหนดความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม แบนดูราบอกว่าในทางปฏิบัติแล้ว อะไรก็ตามที่สามารถเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ตรง ก็สามารถเรียนรู้ได้จากการดูตัวแบบเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น การเรียนรู้โดยการดูตัวแบบจะเกิดขึ้น ไม่ว่าผู้สังเกตหรือตัวแบบจะได้รับรางวัลจากการกระทำนั้นๆ หรือไม่ก็ตาม ซึ่งต่างจากรูปแบบการเรียนรู้ของนักพฤติกรรมนิยม เช่น อีวาน พาฟลอฟ (Ivan Pavlov) หรือบี.เอฟ. สกินเนอร์ (B.F. Skinner) ที่มุ่งเน้นการเรียนรู้จากการวางเงื่อนไขและการเสริมแรง
อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้โดยการดูตัวแบบก็แสดงให้เห็นว่า การลงโทษหรือการเสริมแรงสามารถส่งผลต่อสถานการณ์ของการเลียนแบบ เด็กจะพร้อมเลียนแบบผู้ที่ได้รับรางวัลมากกว่าผู้ที่ถูกลงโทษ ดังนั้น เด็กเรียนรู้ได้โดยที่ตนเองไม่ต้องได้รับรางวัลหรือการลงโทษ แนวคิดนี้มีชื่อว่า การเรียนรู้จากผู้อื่น (vicarious learning) เช่นเดียวกัน แบนดูราแสดงให้เห็นว่า เมื่อตัวแบบถูกเสนอด้วยสิ่งเร้าที่ต้องการวางเงื่อนไข ผู้ที่สังเกตเหตุการณ์นี้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีส่วนร่วมโดยตรง จะมีแนวโน้มที่จะถูกวางเงื่อนไขไปด้วย
แบนดูราพัฒนาการดูตัวแบบขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการบำบัด ซึ่งวางพื้นฐานอยู่บนงานวิจัยของเขา ผู้ป่วยได้รับการสนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง โดยการพิจารณาและเลียนแบบพฤติกรรมของผู้บำบัด แม้ว่าตอนแรกการดูตัวแบบจะทำการศึกษาในกลุ่มเด็ก แต่พบว่าวิธีการนี้ก็ได้ผลในการรักษาโรคกลัวในผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน ตอนแรกผู้ป่วยจะดูตัวแบบสัมผัสกับสิ่งที่พวกเขากลัว ภายใต้สภาวะที่ไม่มีการคุกคาม จากนั้นผู้ป่วยจะได้รับการสนับสนุนให้กระทำตามตัวแบบ และสถานการณ์จะเริ่มคุกคามมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งผู้ป่วยสามารถเผชิญหน้ากับสิ่งของหรือประสบการณ์ที่พวกเขากลัวได้ด้วยตนเอง
นอกจากนี้ แบนดูรายังให้ความสำคัญกับความสามารถของมนุษย์ในการสร้างสัญลักษณ์ (symbolization) ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการดูตัวแบบแบบผกผัน (inverse modeling) ในการใช้ความสามารถในเชิงสัญลักษณ์ คนเราจะสร้างตัวแบบภายใน (internal modeling) ขึ้นมา เพื่อเป็นสนามจำลองของการวางแผน การแก้ปัญหา และการใคร่ครวญ และแม้กระทั่งเอื้ออำนวยการสื่อสารกับผู้อื่น อีกแง่มุมหนึ่งของทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมที่แบนดูราทำการสำรวจก็คือ self-regulatory activity หรือการที่มาตรฐานภายในส่งผลต่อแรงจูงใจและพฤติกรรม เขาศึกษาผลของความเชื่อของคนเราเกี่ยวกับตนเอง ต่อความคิด การเลือก ระดับแรงจูงใจ ความพากเพียร และความอ่อนไหวต่อความเครียดและความซึมเศร้า
แบนดูราแต่งหนังสือไว้เป็นจำนวนมาก ได้แก่ Adolescent Aggression (1959), Social Learning and Personality (1963), Principles of Behavior Modification (1969), Aggression (1973), Social Learning Theory (1977), and Social Foundations of Thought and Action (1985) เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น